วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของแพะ


เรื่องของแพะ
เรื่องของแพะมักจะได้รับการบอกเล่ากันในเรื่องของนิทาน หรือเรื่องที่เกิดแบบเหลือเชื่อ ในสมัยโบราณ แพะ (เพศผู้) จะได้รับการกล่าวขานในความหมายของ “ ผู้ทรงพลังทางเพศ ” บางครั้งแพะอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความชั่วร้ายก็เป็นได้ ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปมักจะมองหรือคิดว่าแพะเป็นสัตว์ไม่ธรรมดา โดยธรรมชาติแล้วแพะมักจะปีนป่ายไปยืนบนกำแพง กิ่งไม้หรือเนินดิน ที่เป็นที่ที่สูง เพื่อที่จะได้สังเกตการณ์หรือมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวได้ อย่างไรก็ตาม แพะเป็นสัตว์สังคมและไม่ชอบที่จะอยู่ลำพังเพียงตัวเดียวโดดเดี่ยว นอกจากนี้มี การจัดอันดับความสำคัญในฝูง ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ในการเป็นผู้นำของฝูง บางครั้งแพะอาจจะทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเจ้าของเป็นคนที่ใจร้าย เนื่องจากแพะจะมักไม่ทำในสิ่งที่เจ้าของต้องการ แต่จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเสมอ ๆ แพะมีนิสัยการบริโภคที่เลือกสรรในสิ่งที่ดีที่สุดจากแปลงหญ้ารวมถึงอาหารที่เจ้าของจัดให้ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นแพะจะอยู่ท่ามกลางแปลงหญ้าที่มีหญ้าดีที่สุด แพะก็ยังอยากจะกินเศษกระดาษในสนามหญ้านอกรั้วหรือแม้แต่ลวดที่ขึงทำราวตากผ้า
แพะชอบที่จะส่งเสียงร้องเหมือนเสียงร้องไห้ ซึ่งเป็นลักษณะปกติหรือสัญญลักษณ์ประจำตัว บางครั้งแพะจะร้องเสียงดัง ขณะยืนอยู่หน้ารางอาหารเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความ ไม่พอใจในอาหารที่อยู่ตรงหน้า (อยากได้อย่างอื่น) ดังนั้นเจ้าของแพะจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจความต้องการของแพะจากเสียงร้องให้ถูกต้อง
ลักษณะของแพะที่มีสุขภาพดี ควรจะประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้
- กินอาหารได้ดี
- มีการเคี้ยวเอื้อง
- มีชีวิตชีวา กระตือรือร้น และมีปฎิสัมพันธ์กับแพะตัวอื่นในฝูง
- ขนเรียบ เป็นมัน เคลื่อนไหวหรือกระโดดเล่น โดยปราศจากการชงักงันหรือติดขัด เนื่องจากบาดเจ็บที่ขาหรือกีบ
- ดูสมบูรณ์แต่ไม่อ้วน
- แววตาแจ่มใสและสะอาด ไม่มีขี้ตา
- จมูกเย็นและแห้ง
- เยื่อเมือกชุ่มและเป็นสีชมพู
- อุจจาระ แน่น และมีลักษณะคล้ายลูกบอลเล็ก ๆ
- ปัสสาวะสีน้ำตาลใสและสะอาด ไม่ขุ่นเป็นตะกอน
- อุณหภูมิร่างกายปกติเฉลี่ย 102.2 􀁻 - 104 􀁻 F (39 􀁻 – 40 􀁻 C)
ชีพจรเฉลี่ย 70-80 ครั้ง/นาที (ในลูกแพะอาจสูงกว่าเล็กน้อย)
ในอดีตที่ผ่านมา การเลี้ยงแพะในประเทศไทยค่อนข้างจะจำกัดอยู่ใน กลุ่มชาวไทยมุสลิม เป็นการเลี้ยงสำหรับบริโภคเนื้อและประกอบพิธีทางศาสนา จึงมักจะปรากฏภาพของแพะพื้นเมืองทางใต้ ที่มีรูปร่างขนาดเล็กน้ำหนักตัว 20-30 กก. ใบหูตั้งเรียวเล็ก หน้าผากลาด สีขนหลากหลาย ดำ น้ำตาล สลับลายขาว มีเขาทั้งเพศผู้และเพศเมีย โดยเขาแพะมีสีเทาดำและมีลักษณะโค้งไปข้างหลัง และบิดงอมาข้างหน้า ในเพศผู้มักจะมีเคราด้วย ส่วนเพศเมีย เต้านมจะมีทรงกลมขนาดเล็กและหัวนมมีขนาดเล็กและสั้น (ทำให้ยากต่อการรีดนมด้วยมือหรือการใช้เครื่องรีด) ในขณะที่ปัจจุบันเราจะได้พบเห็นแพะพื้นเมืองทางเหนือ ที่มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่าแพะทางใต้ น้ำหนักตัว 30-45 กก. ส่วนใบหูนั้นมีทั้งหูตั้งและหูปรก ขนาดเล็กสั้นและใหญ่ยาวต่าง ๆ กันไป สีขนหลากหลายเช่นกัน ได้แก่ ลายขาวจุดดำ น้ำตาลปนดำและขาว สีน้ำตาลทองทั้งตัว สีดำทั้งตัว และบางตัวส่วนหัวมีสีดำถึงบริเวณขาหน้า ส่วนที่เหลือมีสีขาว ทั้งหมด แพะพื้นเมืองทางเหนือมีการเลี้ยงกันมากในแถบภาคกลางตอนบน เช่น นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี เป็นต้น
กรมปศุสัตว์ได้มีการนำแพะพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาเพื่อเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงแพะที่เกษตรกรเลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านเนื้อและน้ำนมให้ดีขึ้น พันธุ์ต่าง ๆ ที่นำเข้ามาปรับปรุงผลผลิตด้านเนื้อ ได้แก่ พันธุ์แองโกลนูเบียนและพันธุ์บอร์ ส่วนด้านการเพิ่มผลิตน้ำนม ได้แก่ พันธุ์ซาเนน ซึ่งใช้เป็นพันธุ์หลักของแพะนม นอกจากนี้ พันธุ์แอลไพน์และพันธุ์ทอกเกนเบอร์ก ก็เป็นพันธุ์ที่ผู้เลี้ยงแพะนมกำลังให้ความสนใจเช่นกัน แต่ปริมาณสัตว์พันธุ์ ยังมีจำนวนไม่มากนัก
ในปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งแพะนม พันธุ์หลาวซาน (Loashan Dairy Goat) จำนวน 2 คู่ มายังประเทศไทย เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2544 แพะดังกล่าวได้เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2545 และกรมปศุสัตว์ได้มอบให้ กองบำรุงพันธุ์สัตว์นำไปอนุบาลที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ปากช่อง ปัจจุบันแพะดังกล่าว เคลื่อนย้ายมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครราชสีมา หลาวซานเป็นแพะพันธุ์นมของ Shandong Province โดยมีการพัฒนามาจากแพะพันธุ์ซาเนน หลายประเทศจากทวีปยุโรป นำเข้าครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยนักเทศน์
ชาวเยอรมัน และได้มีการผสมพันธุ์กับแพะพื้นเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการประชาสัมพันธ์แพะหลาวซานว่า มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยที่ปัจจุบันรูปร่างและผลผลิต (body conformation and milk production) เทียบได้เท่ากับพันธุ์ ซาเนนแท้ในยุโรป กล่าวคือ เมื่อโตเต็มที่เพศผู้มีน้ำหนัก 90-100 กก. เพศเมีย 60-70 กก. ระยะการให้น้ำนม 240-350 วัน ปริมาณน้ำนมต่อระยะการให้นม 800 กก. ไขมันนม 4.0 %
สำหรับแพะพันธุ์หลาวซานที่กรมปศุสัตว์ดูแลอยู่นั้น มีแผนผสมพันธุ์เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ผลิตพันธุ์แท้
แม่พันธุ์หลาวซาน จำนวน 2 แม่ ให้ลูกแล้ว 6 ครอก จำนวน 11 ตัว เป็นเพศผู้ 7 ตัว เพศเมีย 4 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบแพะหลาวซานเพศผู้ที่เกิดในประเทศไทย ให้โครงการตามพระราชดำริ บ้านบ่อหวี อ. สวนผึ้ง จ. ราชบุรี 1 ตัว และฟาร์มส่วนพระองค์ หนองเหียง อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ 1 ตัว
สมรรถภาพการผลิตน้ำนมของแพะพันธุ์หลาวซาน เพศเมีย 2 ตัว ที่นำเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค่าเฉลี่ยจาก 5 ครอก)
จำนวนวันที่รีดนม 237 วัน/ตัว
น้ำนมที่รีดได้ทั้งหมด 534.6 กก./ตัว
เฉลี่ยให้น้ำนมวันละ 2.25 กก./ตัว
2. ผลิตแบบข้ามสาย (Line Breeding)
โดยใช้พ่อพันธุ์หลาวซานผสมกับแม่พันธุ์ซาเนน ที่มีอยู่เดิมเพื่อศึกษาถึงสมรรถภาพการผลิตน้ำนม เปรียบเทียบกับแพะหลาวซานพันธุ์แท้ ที่นำมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ข้อมูลอยู่ระหว่างการรวบรวม
สุภาวัลย์ บรรเลงทอง *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น